• 10 เม.ย. 2561

จะทำอย่างไร? เมื่อบ้านโดนประกาศเป็นเขตโบราณสถาน

งานเข้าแล้วค่า!! จู่ ๆ บ้านที่อยู่มานาน ก็ถูกประกาศเป็นเขตโบราณสถานซะงั้น แล้วทีนี้จะทำอย่างไร? จะขาย จะต่อเติมซ่อมแซม จะให้เช่า ยังจะทำได้ไหม? หรือจะต้องรอรัฐมาเวนคืนอย่างเดียว

ใครเจอะเจอปัญหานี้อย่าเพิ่งตื่นตระหนก ตั้งสติ แล้วเช็คดี ๆ ZmyHome มีคำตอบให้

ตามที่ พระราชบัญญัติ โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๔ ในมาตราที่ ๗ กล่าวไว้ว่า “มาตรา ๗ เพื่อประโยชน์ในการดูแลรักษาและการควบคุมโบราณสถานให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ ให้อธิบดีมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษาขึ้นทะเบียนโบราณสถานใด ๆ ตามที่อธิบดีเห็นสมควรได้ และให้มีอำนาจกำหนดเขตที่ดินตามที่เห็นสมควรเป็นเขตของโบราณสถาน โดยให้ถือว่าเป็นโบราณสถานด้วยก็ได้ ประกาศดังกล่าวนี้ อธิบดีจะเพิกถอนหรือแก้ไขเพิ่มเติมก็ให้กระทำได้โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา การขึ้นทะเบียนโบราณสถานตามความในวรรคก่อน ถ้าโบราณสถานนั้นมีเจ้าของหรือมีผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย ให้อธิบดีแจ้งเป็นหนังสือให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองทราบ ถ้าเจ้าของหรือผู้ครอบครองไม่พอใจ ก็ให้มีสิทธิร้องต่อศาลภายในกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่อธิบดีแจ้งให้ทราบ ขอให้ศาลมีคำสั่งให้อธิบดีระงับการขึ้นทะเบียนและหรือการกำหนดเขตที่ดินให้เป็นโบราณสถานแล้วแต่กรณีได้ ถ้าเจ้าของหรือผู้ครอบครองมิได้ร้องขอต่อศาล หรือศาลมีคำสั่งคดีถึงที่สุดให้ยกคำร้องขอของเจ้าของหรือผู้ครอบครอง ให้อธิบดีดำเนินการขึ้นทะเบียนได้”

จะเห็นว่า เราไม่จำเป็นต้องย้ายออกแต่อย่างใด สามารถสู้กันได้ในชั้นศาลได้ ที่สำคัญในราชกิจจานุเบกษาให้สิทธิ์แก่อธิบดีในการตัดสินใจดังกล่าว อธิบดีเองก็มิได้ใจร้ายแก่ชาวบ้าน ท่านย่อมพิจารณาถึงผลได้ผลเสียสูงสุดต่อบ้านเมืองอยู่แล้ว โดยส่วนใหญ่แล้ว เขตโบราณสถานมักจะประกาศกันมาเนิ่นนานก่อนที่ชุมชนจะขยายตัว ที่เป็นปัญหากันอยู่ทุกวันนี้ ไม่ใช่ว่าเจอโบราณสถานในบริเวณบ้าน แต่เป็นบ้านของเราคือหนึ่งในเขตแดนของโบราณสถาน

ปัญหาที่เกิดคือไม่กลมกลืนกับภูมิสถาปัตย์โดยรอบของโบราณสถาน หากนึกไม่ออกลองนึกถึงตึกระฟ้าเช่นมหานคร ตั้งอยู่ด้านหน้าของวัดไชยวัฒนาราม นั่นคือความไม่กลมกลืนของภูมิสถาปัตย์ แต่ถ้ากลมกลืนต้องลองนึกการปรับปรุงอาคารบริเวณหน้าพระบรมมหาราชวัง หรืออาคารบ้านเรือนในกรุงโรม หรือในประเทศกรีซ ที่มีการก่อสร้างให้กลมกลืนกับโบราณสถาน ทางหน่วยงานรัฐเองก็ได้ออกมาชี้แจงว่า สิ่งปลูกสร้างและที่ดินที่ได้รับกรรมสิทธิ์อย่างถูกต้อง เช่น โฉนด ยังสามารถซื้อขายเปลี่ยนมือได้ตามปกติ หากตัวบ้านชำรุดทรุดโทรมหรือต้องการสร้างใหม่ก็สามารถปลูกบ้านหรืออาคารแทนหลังเก่าได้

อีกทั้งยังสามารถต่อเติมบ้านและอาคารได้ เพียงแต่กรมศิลปากรจะเข้ามาควบคุมดูแลเรื่องความสูงของสิ่งปลูกสร้างเท่านั้น โดยความสูงห้ามเกินตึก 2 ชั้น หรือประมาณ 9 เมตร เหมือนกับพื้นที่ประกาศเป็นโบราณสถานในเขต จ.สุโขทัย จ.อยุธยา และ จ.กำแพงเพชร รู้อย่างนี้แล้วก็อย่าเพิ่งตระหนกตกใจ ลองคุย ปรึกษา และหาแนวทางการแก้ไขร่วมกันกับเจ้าหน้าที่รัฐ นอกจากบ้านจะสวยกลมกลืนสภาพแวดล้อมแล้ว ยังสามารถสร้างจุดขายให้แก่ชุมชน กลายเป็นจุดเด่นในการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมได้อีกด้วย

คราวนี้จะเปิดบ้านให้ทำเป็นโฮมสเตย์ หรือเข้าโครงการ Airbnb ก็สะดวกโยธิน บ้านก็สวยกลมกลืน แถมอยู่ใกล้แหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม เพราะฉะนั้นหากได้ยินข่าวว่าแถวบ้านจะถูกประกาศเป็นเขตโบราณสถานก็หาข้อมูล ปรึกษาแหล่งข่าวที่เชื่อถือ แล้วเราก็เตรียมรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้น แค่นี้ก็วิน-วิน

จากใจ ZmyHome ฝากกดแชร์เป็นกำลังใจให้ด้วยครับ
บทความอื่นๆ
  • ค้นหาบ้านคอนโด

    ต้องการซื้อ หรือเช่า บ้าน คอนโด ตรวจ สอบราคา เช็คค่าเช่า ติดต่อตรงกับเจ้า ของตัวจริง ทุกทำเล ทั่วประเทศ

    ค้นหา
  • ลงประกาศ

    ต้องการขาย หรือปล่อยเช่า บ้าน คอนโด เพียงคุณเป็นเจ้าของตัวจริง และพร้อมที่จะลงประกาศอย่างมีคุณภาพ เพื่อให้ผู้ซื้อศึกษา อย่างสะดวกที่สุด ก็ลงประกาศ ได้เลย

    ลงประกาศ