• 18 เม.ย. 2559

เจ้าของคอนโดหรือผู้เช่า ใครจ่ายค่าซ่อมตอนย้ายออก

โดย หมอความข้างบ้าน ZmyHome

เจ้าของคอนโดมิเนียมบางคนคงเคยประสบปัญหา เมื่อผู้เช่าย้ายออกจากคอนโด ไม่แน่ใจว่าจะหักเงินประกันมาซ่อมแซมห้องชุดได้แค่ไหน พื้นเป็นรอยขนแมว โต๊ะกินข้าวมีรอยถลอกจากการใช้งาน จะหักเงินมาขัดพื้นใหม่ หรือเอามาซื้อโต๊ะใหม่เลยได้หรือไม่ ส่วนคนเช่า ถูกเจ้าของเก็บเงินประกันไว้ โดนเจ้าของแจ้งว่าต้องการหักเงินนำไปซื้อเฟอร์นิเจอร์ หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าใหม่ แต่เฟอร์นิเจอร์ก็แค่เก่าลงตามอายุการใช้งาน ส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้งานไม่ได้ จริงๆ ตัวเองก็ไม่ได้ใช้งานคนแรก แถมเครื่องใช้ไฟฟ้าสมัยนี้ก็เสียง่าย จริงๆแล้วใครจะต้องเป็นผู้รับผิดในความเสียหายของทรัพย์สินที่เช่าตามกฎหมายนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้กำหนด

หน้าที่และความรับผิดของผู้เช่าและผู้ให้เช่าในส่วนของความเสียหายของทรัพย์สิน โดยสรุปไว้ ดังนี้ ผู้ให้เช่า มีหน้าที่จะต้องส่งมอบทรัพย์สินให้แก่ผู้เช่าในสภาพดี และต้องรับผิดชำระค่าบำรุงรักษา และซ่อมแซมทรัพย์สินให้อยู่ในสภาพปกติ เช่น เกิดเพดานรั่ว ท่อน้ำแตก แต่ไม่ต้องรับผิดชอบในการบำรุงรักษาตามปกติและซ่อมแซมเล็กน้อย เช่น เปลี่ยนหลอดไฟ เปลี่ยนก๊อกน้ำ ส่วนผู้เช่ามีหน้าที่ที่จะต้องใช้ทรัพย์สินที่เช่าตามที่กำหนดไว้ในสัญญาและรักษาทรัพย์สินเสมอกับที่วิญญูชนจะพึงรักษาทรัพย์สินของตนเองรวมทั้งต้องบำรุงรักษาและซ่อมแซมเล็กน้อย และต้องรับผิด ในความสูญหาย หรือบุบสลายอย่างใด ๆ อันเกิดแก่ทรัพย์สินที่เช่า เพราะความผิดของผู้เช่าเอง แต่ผู้เช่าไม่ต้องรับผิดในความสูญหายหรือบุบสลายอันเกิดแก่การใช้ทรัพย์สินนั้นตามปกติโดยชอบ

ดังนั้นการที่เจ้าของห้องจะหักเงินประกันการเช่าเพื่อมาชำระค่าเสียหายของทรัพย์สินที่เช่าได้หรือไม่นั้น ต้องมาพิจารณาความเสียหายของทรัพย์สินที่เช่านั้นว่าเกิดจากการใช้งานปกติ หรือเกิดจากการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อของผู้เช่าทำให้ทรัพย์สินเกิดความเสียหาย หากเป็นความเสียหายที่เกิดจากการใช้งานปกติ เช่นโต๊ะทานข้าวมีรอบขีดข่วนของจาน ชาม หรือ ผนังห้องมีสีซีดลง รอยด่าง ของผนังวอลเปเปอร์อันเนื่องมาจากความเสื่อมอายุของวอลเปเปอร์ตามปกติ ผู้ให้เช่าจะต้องรับผิดชอบในส่วนนี้เอง ไม่สามารถนำมาหักจากเงินประกันการเช่าได้ แต่หากความเสียหายนั้นเกิดจากการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อของผู้เช่า ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นจากการใช้งานตามปกติ เช่นผู้เช่าทำสีทาบ้านหกเลอะพื้น เป็นต้น


กรณีนี้ ผู้เช่าจะต้องรับผิดในการซ่อมแซมความเสียหายดังกล่าว โดยผู้ให้เช่าสามารถหักค่าเสียหายนี้จากเงินประกันการเช่าได้ บางกรณีไม่สามารถตกลงกันได้ว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นเกิดจากการใช้งานตามปกติ หรือเกิดจากความจงใจหรือประมาทเลินเล่อของผู้เช่า ก็จะต้องฟ้องร้องให้ศาลเป็นผู้ตัดสินว่าใครจะต้องเป็นผู้รับผิด เพื่อเป็นการกันไว้ดีกว่าแก้ ก่อนย้ายเข้า ควรตรวจสอบ จุดบกพร่องต่างๆ ให้ครบถ้วน และถ่ายภาพไว้เป็นหลักฐาน ซึ่งจะช่วยลดข้อขัดแย้งระหว่างเจ้าของห้อง และผู้เช่า ภายหลัง ระหว่างอยู่อาศัย ผู้เช่าก็ต้องระมัดระวัง เพราะจริงๆ แล้วทรัพย์สินทั้งหมดไม่ใช่ของตัวเอง และต้องรับผิดชอบหากตัวเองทำเสียหาย ผู้เช่าญี่ปุ่นบางคนระมัดระวังถึงขนาดเอาผ้ามาหุ้มโซฟาและเก้าอี้ระหว่างอยู่อาศัย เพราะเกรงว่าจะเปื้อนหรือเก่า ส่วนเจ้าของห้องที่อยากเก็บผู้เช่าไว้นานๆ หรืออยากให้ผู้เช่าบอกต่อโดยเฉพาะญี่ปุ่น ซึ่งต้องแข่งขันกับทั้งอพาร์ตเมนท์และเซอร์วิสอพาร์ตเมนท์ ก็อาจจะคิดว่าค่าซ่อมแซมเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ เป็นค่าการตลาดก็ได้ครับ

จากใจ
ZmyHome
กดแชร์เป็นกำลังใจให้ทีมงานด้วยครับ
บทความอื่นๆ
  • ค้นหาบ้านคอนโด

    ต้องการซื้อ หรือเช่า บ้าน คอนโด ตรวจ สอบราคา เช็คค่าเช่า ติดต่อตรงกับเจ้า ของตัวจริง ทุกทำเล ทั่วประเทศ

    ค้นหา
  • ลงประกาศ

    ต้องการขาย หรือปล่อยเช่า บ้าน คอนโด เพียงคุณเป็นเจ้าของตัวจริง และพร้อมที่จะลงประกาศอย่างมีคุณภาพ เพื่อให้ผู้ซื้อศึกษา อย่างสะดวกที่สุด ก็ลงประกาศ ได้เลย

    ลงประกาศ