• 15 ต.ค. 2562

ฝนตกหนัก ฝ้า-หลังคาถล่ม! ใครผิดบ้าง? วิศวกร สถาปนิก ผู้บริหารงานก่อสร้าง ผู้รับเหมา หรือเจ้าของ?

          ในช่วงเดือนที่แล้ว มีเหตุฝนตกหนักจนฝ้าและหลังคาส่วนหนึ่งถล่มลงมาในห้างใหญ่ห้างหนึ่ง โชคดีที่ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหนักหรือเสียชีวิต แม้จะต้องมีทรัพย์สินของผู้ที่เช่าเปิดร้านบางส่วนเสียหายก็ตาม และจากคลิปซึ่งเผยแพร่ในโลกโซเชียลโดยผู้คนที่กำลังเดินอยู่ภายในห้างคลิปหนึ่ง ผู้เขียนได้ยินเสียงอุทานประกอบทำนองว่า “วิศวกรต้องรับผิดชอบ” หลายต่อหลายคำ

          แน่นอนว่าคำอุทานคงไม่ใช่อะไรที่จริงจัง ในความทรงจำของผู้ที่ถ่ายคลิปนั้น คงจะคิดถึงวิชาชีพวิศวกรว่าเป็นวิชาชีพที่เกี่ยวกับการก่อสร้างได้ก่อนจึงอุทานมาอย่างนั้น จะว่าไปนับเป็นเกียรติแก่วิชาชีพวิศวกรที่มีคนนึกถึง แต่ในอีกด้านหนึ่งก็เป็นความโชคร้ายที่คิดได้ทันทีว่า นี่ต้องเป็นความผิดพลาดของวิศวกรก่อนใครเพื่อน

          ว่าแต่ว่าเรื่องแบบนี้มันพอจะบอกได้ว่าเป็นความผิดของวิศวกรจริงหรือไม่ หรือถ้าไม่แล้วจะเป็นของใคร จึงขอยืมกรณีศึกษานี้มาอธิบายให้พิจารณาว่าตกลงแล้วกรณีฝนตกจนหลังคาถล่มนั้นมีโอกาสเป็นความผิดของใคร ด้วยสาเหตุอะไรได้บ้าง?

          1. กรณีวิศวกรโครงสร้างผิด - วิศวกรโครงสร้างมีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องการออกแบบคำนวณโครงสร้างเพื่อให้เกิดความแข็งแรง กรณีนี้จะผิดได้หากการคำนวณโครงสร้างหลังคาของวิศวกรที่ออกแบบนั้นไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ อาจจะระบุใช้เหล็กบางไป น้อยไป ระบุรอยเชื่อมและมาตรฐานการเชื่อมผิดไป จนหลังคาไม่สามารถรับน้ำหนักที่ควรจะรับได้ เมื่อฝนตกลมแรงจึงเกิดถล่มลงมา เรื่องนี้ตรวจสอบได้ไม่ยาก สามารถดูจากแบบก่อสร้างที่วิศวกรเขียนขึ้น (แต่เชื่อเถอะครับ วิศวกรส่วนใหญ่กลัวกรณีนี้มาก ส่วนใหญ่จะออกแบบโครงสร้างเผื่อไว้พอสมควร)

          2. กรณีวิศวกรงานสุขาภิบาลผิด - วิศวกรสุขาภิบาลมีหน้าที่ออกแบบคำนวณงานสุขาภิบาล รวมถึงระบบระบายน้ำฝน หากวิศวกรงานสุขาภิบาลออกแบบท่อระบายน้ำฝนขนาดเล็กเกินไป จนระบายน้ำไม่ทัน มีผลต่อโครงสร้างที่รับรางน้ำ จึงทำให้หลังคาถล่มลงมา แต่ทั้งนี้ ถึงจะระบายน้ำไม่ทัน อย่างมากก็น่าจะเป็นแค่น้ำฝนรั่วเข้าในอาคาร ไม่น่าจะถึงขั้นทำให้โครงสร้างหลังคาพัง เพราะวิศวกรโครงสร้างจำต้องคำนวณการรับน้ำหนักเผื่อในช่วงที่น้ำฝนเต็มรางน้ำอยู่แล้ว วิศวกรงานสุขาภิบาลจึงอาจเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งเท่านั้น ถึงจะผิดที่ทำให้รางน้ำระบายน้ำไม่ทัน แต่ก็ไม่ผิดที่ทำให้หลังคาถล่มลงมา

          3. กรณีสถาปนิกผิด - สถาปนิกคือผู้ออกแบบที่กำหนดรูปร่างหน้าตาและวัสดุอาคาร ที่จริงดูจากหน้าที่ก็เหมือนในกรณีนี้สถาปนิกไม่น่าจะมีส่วนผิด แต่หากสถาปนิกมีการเปลี่ยนวัสดุหลังคาโดยไม่ได้แจ้งประสานงานกับวิศวกร จนโครงสร้างต้องรับน้ำหนักเพิ่มเติมคลาดเคลื่อนจากเดิม นี่ก็เป็นความผิดของสถาปนิกได้เช่นกัน แต่สถาปนิกคงไม่อุกอาจขนาดนั้น และด้วยกระบวนการก่อสร้างโดยทั่วไป หากสถาปนิกเปลี่ยนวัสดุ ก็จะมีที่ผู้บริหารงานก่อสร้างและผู้รับเหมารับรู้และคอยประสานงานอยู่เสมอ ซึ่งหน้าที่ประสานงานกับวิศวกรเป็นความรับผิดชอบของผู้บริหารงานก่อสร้าง (หรือผู้รับเหมาในบางกรณี) เช่นกัน โอกาสที่สถาปนิกจะมีความผิดในกรณีนี้จึงมีน้อยเช่นกัน

          4. กรณีผู้บริหารงานก่อสร้างผิด - ผู้บริหารงานก่อสร้าง หรือที่เรียกกันคุ้นปากในวงการว่า CM (Construction Manager) ชื่อวิชาชีพนี้อาจไม่เป็นที่คุ้นเคยสำหรับคนนอกวงการ แต่วิชาชีพนี้มีหน้าที่ประสานงาน เพื่อให้งานก่อสร้างใช้เวลาเป็นไปตามแผน โดยมีคุณภาพดีและใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นหน้าที่ที่โครงการก่อสร้างใหญ่ ๆ ขาดไปไม่ได้ ในกรณีนี้หากผู้บริหารงานก่อสร้างนำเสนอโครงสร้างแบบใหม่ หรือวัสดุมุงหลังคาใหม่ซึ่งอาจทำให้ก่อสร้างได้เร็วขึ้น ถูกลง แต่ทำให้โครงสร้างเดิมผิดพลาดไป ความรับผิดชอบนี้ก็อาจจะเป็นของผู้บริหารงานก่อสร้างได้เหมือนกัน อย่างไรก็ตาม ในสภาวะปกติ ผู้บริหารงานก่อสร้างจะนำเสนอรูปแบบโครงสร้างหรือวัสดุใหม่ให้สถาปนิกหรือวิศวกรเห็นชอบและอนุมัติด้วย จึงมีโอกาสผิดในกรณีนี้น้อยเช่นกัน

          5. กรณีผู้รับเหมาผิด - ผู้รับเหมาคือกลุ่มคนที่ต้องจับต้องงานก่อสร้างเป็นช่วงสุดท้าย แค่กรณีที่คนงานก่อสร้างและคนคุมงานก่อสร้าง (ซึ่งล้วนอยู่ในทีมของผู้รับเหมา) ทำงานหรือคุมงานไม่เรียบร้อย เช่นเชื่อมเหล็กไม่ดี ขันน๊อทไม่แน่น ใช้เหล็กผิดจากที่ระบุไป ก็มีสิทธิทำให้อาคารเสียหายได้ แต่ความผิดพลาดอาจจะเกิดจากสถานการณ์ซับซ้อนกว่านั้นได้เช่นกัน เช่นในกรณีงานเร่งรีบ มีคำสั่งเปลี่ยนแบบและวัสดุไปมามากมาย ผู้รับเหมาเกิดความสับสนใช้แบบที่ยังไม่อัพเดท ทำให้โครงสร้างที่คุยกันว่าจะต้องแก้ไขไม่ได้แก้ไข หากผู้รับเหมาไม่รับรู้การเปลี่ยนแปลงนี้ อันเนื่องจากการประสานงานของผู้บริหารงานก่อสร้างไม่ดี ผู้รับเหมาก็อาจรอดพ้นความผิดนี้ได้เช่นกัน ซึ่งกรณีหลังผู้บริหารงานก่อสร้างจะรับความผิดนี้ไปแทน

          6. กรณีเจ้าของผิด อันที่จริงในโครงการใหญ่ๆ เจ้าของจะมีโอกาสผิดได้น้อยมาก เพราะทุกๆ การตัดสินใจของเจ้าของ จะถูกรองรับและรับผิดชอบด้วยวิชาชีพที่กล่าวมาก่อนหน้าทั้งสิ้น หากคำสั่งของเจ้าของโครงการส่งผลต่อความปลอดภัย วิชาชีพที่เหลือย่อมไม่อยากรับผิดชอบและไม่คล้อยตามคำสั่งนั้น เจ้าของอาจจะผิดได้ในกรณีที่ไปชี้สั่งให้ผู้รับเหมาเปลี่ยนนั่นนี่หน้างานโดยพละการ อย่างไรก็ดี ย่อมกลายเป็นความรับผิดชอบของผู้รับเหมาซึ่งอยู่หน้างานและเป็นผู้ก่อสร้างอาคารนั้น ๆ ไป

          7. กรณีฟ้าฝนหรือธรรมชาติผิด กรณีนี้อาจเกิดขึ้นได้เหมือนกัน หากพายุนั้นรุนแรงเกินปกติ หรือมีสิ่งของปลิวมาจากที่อื่นตกลงมาสู่หลังคาจนหลังคาถล่ม กรณีนี้ แม้ไม่มีคนผิด แต่เจ้าของอาคารจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อผู้เสียหายไปโดยปริยาย

          อันที่จริงนี่เป็นการยืมเหตุการณ์มาอธิบายหน้าที่และความเกี่ยวข้องของวิชาชีพในงานก่อสร้าง ไม่ได้มีเป้าหมายว่าในกรณีเฉพาะเจาะจงไหนมีใครเป็นคนผิด แต่จากการแจกแจงข้างต้นผู้อ่านคงจะเห็นได้ว่าด้วยระบบวิชาชีพการก่อสร้างในปัจจุบันซึ่งแม้จะยุ่งยากขึ้นด้วยกฎหมายอาคาร, กฎหมายวิชาชีพ และมาตรฐานของกระบวนการปฏิบัติงานมาคอยควบคุม แต่ก็จะช่วยให้โอกาสความผิดพลาดในวิชาชีพลดน้อยลง อันทำให้ความผิดพลาดลดลงตามไปด้วย

          แน่นอนว่าความผิดพลาดก็ยังอาจเกิดขึ้นได้อยู่ดี ซึ่งก็ต้องสืบสาวราวเรื่องเป็นกรณี ๆ ไป แต่ความผิดพลาดแต่ละกรณีแม้อาจคาดเดาพอได้แต่ก็ไม่อาจด่วนสรุปได้ว่าใครผิดจนกว่าจะมีการสืบสวนข้อเท็จจริง


จากใจ
ZmyHome
ฝากกดแชร์เป็นกำลังใจด้วยนะครับ
บทความอื่นๆ
  • ค้นหาบ้านคอนโด

    ต้องการซื้อ หรือเช่า บ้าน คอนโด ตรวจ สอบราคา เช็คค่าเช่า ติดต่อตรงกับเจ้า ของตัวจริง ทุกทำเล ทั่วประเทศ

    ค้นหา
  • ลงประกาศ

    ต้องการขาย หรือปล่อยเช่า บ้าน คอนโด เพียงคุณเป็นเจ้าของตัวจริง และพร้อมที่จะลงประกาศอย่างมีคุณภาพ เพื่อให้ผู้ซื้อศึกษา อย่างสะดวกที่สุด ก็ลงประกาศ ได้เลย

    ลงประกาศ