• 6 ก.ค. 2562

รู้หรือไม่? สระว่ายน้ำก็เป็นอาคาร

          การก่อสร้าง ดัดแปลง ต่อเติม รื้อถอนอาคารต้องทำการขออนุญาตกับทางราชการ และหากเป็นอาคารแล้วย่อมอาจถูกกำหนดคุณสมบัติของอาคารที่จะสร้างในที่นั้น ๆ บางประการ อย่างเช่นเรื่องความสูง หรือระยะร่น

          อย่างกรณีพื้นที่ติดริมแม่น้ำ ก็จะมีกฎหมายระบุระยะถอยร่นอาคารจากแหล่งน้ำนั้น ๆ ต่าง ๆ กัน เช่น ถ้าแหล่งน้ำนั้นกว้างน้อยกว่า 10 เมตร ต้องร่นอาคารห่างออกมาอย่างน้อย 3 เมตร ถ้าใหญ่กว่า 10 เมตร ต้องถอยร่นอย่างน้อย 6 เมตร และในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ เช่น ทะเล ทะเลสาบ ต้องถอยร่นอาคารอย่างน้อย 12 เมตร (โดยวัดขอบเขตแหล่งน้ำจากระดับน้ำขึ้นสูงสุดปกติ) แต่ที่ว่างนั้นก็ยังปลูกต้นไม้ วางกระถางต้นไม้ได้ ทำบ่อน้ำเล็กๆ ได้ เพราะต้นไม้ บ่อน้ำ ไม่ใช่อาคาร

          ปัญหานี้จะไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใด ถ้าเราเข้าใจคำว่าอาคารตรงกับทางราชการ (ซึ่งส่วนใหญ่คือสิ่งที่เราเข้าไปอยู่อาศัยได้ เช่นบ้าน ตึก เขื่อน สะพาน อุโมงค์ ฯลฯ) แต่สิ่งก่อสร้างบางสิ่งบางอย่างที่เราอาจจะไม่คิดว่าเป็นอาคาร ในทางกฎหมายแล้วกลับนับเป็นอาคารเช่นเดียวกัน อย่างเช่น สระว่ายน้ำ, ถังเก็บของ หรือกำแพงกันดิน เป็นต้น

อ่านเพิ่มเติม >> สระว่ายน้ำระบบเกลือ ระบบคลอรีน ต่างกันอย่างไร?

          มีกฎหมายฉบับหนึ่งที่พูดถึงสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ ที่ (อาจจะเข้าใจไปว่าไม่เป็นอาคาร แต่) เข้าข่ายการเป็นอาคารซึ่งก็คือ “กฎกระทรวงกำหนดสิ่งที่สร้างขึ้นอย่างอื่นเป็นอาคารตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร พ.ศ. 2544” ในข้อ 1 ของกฎกระทรวงนี้ระบุว่า ให้สิ่งที่สร้างขึ้นดังต่อไปนี้ เป็นอาคารตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522

          (1) ถังเก็บของ ที่มีความจุตั้งแต่ 100 ลูกบาศก์เมตรขึ้นไป
          (2) สระว่ายน้ำภายนอกอาคารที่มีความจุตั้งแต่ 100 ลูกบาศก์เมตรขึ้นไป
          (3) กำแพงกันดินหรือกำแพงกั้นน้ำที่ต้องรับความดันของดินหรือน้ำที่มีความสูงตั้งแต่ 1.50 เมตรขึ้นไป
          (4) โครงสร้างสำหรับใช้ในการรับส่งวิทยุหรือโทรทัศน์ที่มีความสูงจากระดับฐานของโครงสร้างนั้นตั้งแต่ 10 เมตรขึ้นไป และมีน้ำหนักรวมตั้งแต่ 40 กิโลกรัมขึ้นไป
          (5) สิ่งที่สร้างขึ้นอย่างอื่นนอกจาก (1) (2) (3) และ (4) ที่มีความสูงจากระดับฐานตั้งแต่ 10 เมตรขึ้นไป

          ซึ่งเท่ากับว่าทุกสิ่งข้างต้น หากจะทำการก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน ต้องทำการขออนุญาตกับทางราชการ และทำตามกฎระเบียบข้อบังคับตามกฎหมายอาคารทั้งสิ้น

          แต่เมื่ออ่านแล้วตีความกลับกันก็จะทราบดีว่า ถ้าหากเป็นถังเก็บของขนาด 99 ลูกบาศก์เมตร สระว่ายน้ำขนาดเล็กๆ ที่จุน้ำแค่ 99 ลูกบาศก์เมตร กำแพงกันดินหรือกำแพงกั้นน้ำที่สูงเพียง 1.40 เมตร หรือเสารับส่งวิทยุโทรทัศน์ที่สูง 9.90 เมตร ที่มีน้ำหนักรวมไม่ถึง 40 กิโลกรัม และสิ่งอื่น ๆ นอกเหนือจากสิ่งที่ระบุไว้ว่าเป็นอาคารในกฎหมายอาคารและกฎหมายนี้ที่มีความสูงจากระดับฐานไม่ถึง 10 เมตร ทั้งหมดจะไม่นับเป็นอาคาร จึงไม่อยู่ภายใต้กฎหมายควบคุมอาคาร

          อย่างในกรณีระยะร่น ทุกอย่างในย่อหน้าที่แล้วก็อาจสามารถสร้างในเขตถอยร่นอาคารได้ เพราะไม่ใช่อาคาร (ยกเว้นแต่จะมีข้อกำหนดอื่น ๆ มาเกี่ยวข้อง เช่นบางกรณีที่กฎหมายกำหนดให้ระยะร่นนั้นต้องวิ่งโดยรถดับเพลิงได้สะดวก ก็จะสร้างสระเล็ก ๆ หรือสิ่งกีดขวางต่าง ๆ ไม่ได้)

          แต่ที่จริงจุดประสงค์ของการแจ้งกฎหมายข้อนี้ ไม่ได้ต้องการให้เราหัวหมอ สร้างสระว่ายน้ำ 99 ลูกบาศก์เมตร หรือเสาอากาศ 9.90 เมตร หนัก 39 กิโลกรัมแต่อย่างใด แต่กลับต้องการชี้แจงขอบข่ายในทางกฎหมาย ว่าเห็นอะไรบ้างที่มีผลกระทบต่อชีวิตผู้คน ซึ่งต้องการมาตรฐานการตรวจสอบ ขออนุญาต และควบคุมจากทางการ เพื่อให้มีผู้รับผิดชอบในความถูกต้องปลอดภัยในการก่อสร้าง, ดัดแปลง, รื้อถอน

          เพราะแม้ว่าสิ่งเหล่านั้นจะดูคล้ายกับไม่ใช่อาคาร (ไม่ได้มีคนเข้าไปอยู่อาศัย) แต่ถ้าใหญ่มาก สูงมาก หนักมาก ต้องการความแข็งแรงมาก หรือหากเสียหายจะมีผลกระทบมาก กฎหมายอาคารก็จะเข้ามาดูแลในส่วนนี้ด้วยเช่นกัน
เพราะฉะนั้นหากจะสร้างสิ่งเหล่านี้เมื่อใด พึงตระหนักไว้ว่าในทางราชการถือว่าเป็นอาคาร และต้องทำตามกฎหมายอาคารด้วยเหมือนกัน


จากใจ
ZmyHome
ฝากกดแชร์เป็นกำลังใจด้วยนะครับ
 
บทความอื่นๆ
  • ค้นหาบ้านคอนโด

    ต้องการซื้อ หรือเช่า บ้าน คอนโด ตรวจ สอบราคา เช็คค่าเช่า ติดต่อตรงกับเจ้า ของตัวจริง ทุกทำเล ทั่วประเทศ

    ค้นหา
  • ลงประกาศ

    ต้องการขาย หรือปล่อยเช่า บ้าน คอนโด เพียงคุณเป็นเจ้าของตัวจริง และพร้อมที่จะลงประกาศอย่างมีคุณภาพ เพื่อให้ผู้ซื้อศึกษา อย่างสะดวกที่สุด ก็ลงประกาศ ได้เลย

    ลงประกาศ