• 3 เม.ย. 2561

บันไดที่ดี เป็นอย่างไร?

บันได เป็นองค์ประกอบของอาคารที่มีเสน่ห์ มีคนจำนวนไม่น้อยมีความทรงจำดี ๆ กับบันได ไม่ว่าเมื่อตอนยังคลานเตาะแตะที่บันไดช่างน่าปีนป่าย พอโตขึ้นมานิดหน่อยก็เคยชอบนั่งเล่นตุ๊กตุ่นตุ๊กตาตรงบันไดบ้าน พอเข้าวัยรุ่นบันไดห้างหรือบันไดหน้าตึกโรงเรียนก็เป็นอีกสถานที่ที่ชอบเอาไว้นั่งจับกลุ่มคุยกัน แต่พอโตขึ้นมาความรู้สึกดี ๆ ต่อบันไดกลับหายไป

เพราะความรู้สึกที่เหลือไว้คือ “มันเอาไว้เดินขึ้นลงเท่านั้น ช่างเหนื่อยเหลือเกิน!!!!” (คิดไปก็โหดร้ายนะครับ ที่เราลืมความทรงจำดี ๆ กับบันไดไปหมดสิ้น) เอาหนะ! อย่างน้อยการเดินขึ้นบันได ก็ช่วยเผาผลาญพลังงานให้เราได้ มีคนคำนวณไว้ว่า การขึ้นบันได 1 ขั้นจะเผาผลาญพลังงาน 0.0033 กิโลแคลอรี่ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ถ้าเราหนัก 50 กิโลกรัม ก็เผาผลาญได้ถึง 0.165 กิโลแคลอรี่ต่อขั้น เดินบันไดขึ้นหนึ่งชั้นประมาณ 15-20 ขั้น ก็ได้ตั้ง 2.475-3.30 กิโลแคลอรี่แหนะ (และส่วนใหญ่ของผู้อ่านจะเผาผลาญได้มากกว่านี่แน่ๆ เพราะคงไม่ได้คูณด้วย 50 / 555)

แต่บันไดก็มีข้อเสีย เพราะเป็นที่ที่เกิดอุบัติเหตุหกล้มตกบันไดได้ง่ายเช่นกัน การทำบันไดจึงมีข้อควรคิดและควรระวัง เพราะฉะนั้นเราจะมาดูกันว่าบันไดที่ดีควรมีลักษณะเป็นเช่นไร

1. มีลูกตั้งลูกนอนที่มีขนาดเหมาะสม ลูกตั้งลูกนอนคือแนวความสูงและความกว้างของขั้นบันได กฎหมายกำหนดไว้ว่าบ้านทั่วไปต้องมีลูกตั้งสูงไม่เกิน 20 ซม. และลูกนอนกว้างไม่น้อยกว่า 22 ซม. แต่นั่นยังไม่พอครับ เพราะกฎหมายเป็นมาตรฐานขั้นต่ำ อันที่จริงถ้าวัดจากขนาด ลักษณะการก้าวและฝ่าเท้าคนทั่วไปซึ่งยาวเกือบฟุตแล้ว ในการออกแบบมี Rule of Thumb ว่า ขนาดลูกตั้งที่เดินได้สบายจะอยู่ที่ 17-18 ซม. ขณะที่ลูกนอนที่เดินได้สบาย น่าจะอยู่ที่ประมาณ 27-30 ซม. ตัวเลขข้างต้นคือขนาดบันไดบ้านที่เดินได้สบาย ถ้าเป็นพื้นที่นอกบ้านที่เราใส่รองเท้า ทำให้เท้าเรายาวและหนามากขึ้นอีกนิด ระยะลูกตั้งก็น่าจะอยู่ที่ 15 ซม. ส่วนลูกนอนคือ 30-40 ซม. ขึ้นไปและหากเป็นบันไดตามทางเดินนอกอาคารไม่กี่ขั้นที่ผู้คนมีพฤติกรรมการเดินก้าวเท้ายาวๆ ก็ควรให้ลูกนอนมีขนาดยาวกว่านี้

2. บันไดต้องไม่ทำจากวัสดุที่ลื่นได้ง่าย ข้อนี้ไม่ต้องอธิบายมาก ก็คงเป็นที่เข้าใจ ส่วนที่จะบอกเพิ่มเติมหน่อยว่าในกรณีบันไดภายนอกอาคารที่ใช้วัสดุที่เมื่อฝนตกอาจจะลื่นง่าย ก็ให้ทำจมูกบันไดด้วยวัสดุกันลื่น เช่น จมูกบันได PVC หรือใช้เส้นโลหะฝังเป็นเส้นนูนขึ้นมาเพื่อให้เส้นนูนเกาะรองเท้ามากขึ้น หรือจะใช้เส้นเซาะร่องตรงปลายขั้นบันไดมาช่วยก็ได้

3. มีจมูกบันไดได้ก็ดี เท้าของเราเป็นอวัยวะยื่นล้ำหน้า และเวลาก้าวจะมีระยะเหลื่อมซ้อนกัน เพราะฉะนั้นบันไดที่มีระยะยื่นของลูกนอนเหลื่อมกับลูกนอนขั้นล่างสัก 2-3 ซม. จะเดินได้สบาย เพราะไม่ต้องระวังนิ้วเท้าจะชนลูกตั้ง


4. มีราวกันตกที่มั่นคงแข็งแรงและสูงเหมาะสม ความสูงราวกันตกควรอยู่ที่ 90-110 ซม. แต่หากที่บ้านมีเด็กเล็ก ก็พิจารณาทำราวกันตกที่ระยะความสูง 50-60 ซม.เพิ่มขึ้นได้

5. มีขั้นสม่ำเสมอ เพราะบันไดคือพื้นที่ที่เราใช้ก้าวถี่ ๆ เป็นจังหวะสม่ำเสมอ หากมีบันไดบางขั้นต่างจากขั้นอื่นเพียงแค่ 1 ซม. คนเดิน(หรือวิ่ง)ขึ้นลงบันได จะรู้สึกสะดุดหรือลงน้ำหนักผิดจังหวะได้ (ข้อนี้ขอให้ดูรถไฟลอยฟ้าส่วนต่อขยายบางสาย จะมีความสูงขั้นบันไดลักลั่นบริเวณชานพักบันได จนต้องติดแถบเหลืองดำให้คนระวังขั้นที่ไม่เท่ากันให้ดี – เป็นการทำบันไดสาธารณะที่ควรตำหนิครับ บ่องตง)

6. มีขั้นที่เห็นได้ชัด ในแง่หนึ่งคือต้องมีแสงสว่างพอเพียงในบริเวณบันได และหากบันไดทำจากวัสดุที่ลวงหรือลายตาก็ควรติดจมูกบันไดให้เป็นสีที่สังเกตง่าย หรืออีกกรณีที่บันไดภายนอกในบริเวณที่แดดจ้า มีแสงแยงตาเวลาลงบันไดก็ควรพิจารณาเสริมจมูกบันไดหรือออกแบบให้มีแถบสีเด่นพอประมาณที่ปลายขั้นบันได

7. ไม่หวาดเสียว บันไดที่ดีต้องมั่นคงแข็งแรง ไม่โยกคลอน ผุกร่อน นอกจากความหวาดเสียวจากอันตราย ยังรวมถึงความหวาดเสียวจากความรู้สึก เช่น ถ้าเป็นบันไดโปร่ง ไม่มีลูกตั้ง อาจจะทำให้เกิดความหวาดเสียวกลัวเท้าลื่นไถลเข้าไปในร่องที่ควรเป็นลูกตั้ง(เป็นความหวาดเสียวส่วนบุคคล ไม่ค่อยเกิดขึ้นจริง) หรือกลัวว่าใครจะแอบดูแอบมองจากด้านล่างได้ ซึ่งประเด็นหลังนี้ไม่ขอฟันธง สงวนไว้ให้เป็นพื้นที่ความชอบ ไม่ชอบส่วนตัวละกันครับ

จากใจ ZmyHome ฝากกดแชร์เป็นกำลังใจให้ด้วยครับ
บทความอื่นๆ
  • ค้นหาบ้านคอนโด

    ต้องการซื้อ หรือเช่า บ้าน คอนโด ตรวจ สอบราคา เช็คค่าเช่า ติดต่อตรงกับเจ้า ของตัวจริง ทุกทำเล ทั่วประเทศ

    ค้นหา
  • ลงประกาศ

    ต้องการขาย หรือปล่อยเช่า บ้าน คอนโด เพียงคุณเป็นเจ้าของตัวจริง และพร้อมที่จะลงประกาศอย่างมีคุณภาพ เพื่อให้ผู้ซื้อศึกษา อย่างสะดวกที่สุด ก็ลงประกาศ ได้เลย

    ลงประกาศ