• 27 ก.ย. 2564

น้ำท่วม เตรียมรับมืออย่างไร? ให้ปลอดภัยทั้งคนทั้งบ้าน

ช่วงนี้พายุเข้ามีฝนตกหนัก ทำให้หลายพื้นที่ประสบปัญหาอุทกภัยกันอีกแล้วครับ ใครที่เคยผ่านประสบการณ์น้ำท่วมใหญ่มา ก็เริ่มจะหวาดระแวงว่าบ้านฉันจะเจอน้ำท่วมอีกมั้ย? ส่วนใครที่เพิ่งย้ายที่อยู่มาไม่ถึงสิบปี ก็อาจไม่แน่ใจว่าบ้านของตัวเองมีโอกาสจะถูกน้ำท่วมหรือเปล่า ใช่มั้ยครับ?

แต่เพราะเราย้ายตัวบ้านที่ดินหนีมวลน้ำที่กำลังจะมาไม่ได้ ในช่วงเวลาที่เสี่ยงต่ออุทกภัยแบบนี้ อย่างแรกที่ต้องทำคือ ติดตามข่าวสารสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ทั้งสื่อกระแสหลักและสังคมออนไลน์ แล้วประมวลเฉพาะข่าวจริงที่เกี่ยวข้องกับละแวกบ้านของคุณเพื่อประเมินความเสี่ยง ไปพร้อมกับออกสำรวจรอบบ้านว่ามีจุดใดที่มีโอกาสที่น้ำจะเข้ามาได้บ้าง หลัก ๆ ก็จะเป็นประตูหน้าบ้านที่ต้องกั้นน้ำ ทำแบบชั่วคราวด้วยกระสอบทรายหรือทำคันกั้นคอนกรีตพร้อมทางลาด ส่วนรอยรั่วที่รั้วหรือกำแพงก็ควรอุดกั้นด้วยวัสดุกันน้ำต่าง ๆ เช่น ซิลิโคน ดินน้ำมัน แผ่นพลาสติก รวมทั้งตรวจสอบท่อระบายน้ำรอบบ้านไม่ให้มีอะไรอุดตัน หากมีน้ำเข้ามาจริง ๆ ก็จะช่วยชะลอความเสียหายได้มากครับ

หากประเมินแล้วว่าน้องน้ำมาแน่ และมีเวลามากพอ ให้จัดการเตรียมตัวต้อนรับให้พร้อมดังนี้ครับ
  • ถ้าในบ้านมีเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย หรือสัตว์เลี้ยง ควรพาไปอยู่ในที่ปลอดภัยแต่เนิ่น ๆ
  • ย้ายรถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์ไปไว้ในพื้นที่ที่น้ำท่วมไม่ถึง
  • เก็บเอกสารสำคัญไว้ในซองกันน้ำ เช่น บัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน โฉนดที่ดิน เอกสารเกี่ยวกับรถ และเอกสารทางการเงินต่าง ๆ
  • ตุนน้ำสะอาด สำหรับดื่มและใช้ไว้ให้ได้มากที่สุด
  • สำรองอาหาร และของใช้จำเป็นเอาไว้อย่างน้อย 3 วัน กรณีต้องติดอยู่ในบ้าน
  • เตรียมกระเป๋ายังชีพไว้ติดตัวไปหากต้องอพยพ เช่น อาหาร ยารักษาโรค เสื้อผ้า ถุงนอน ผ้าห่ม เอกสารสำคัญ ไฟฉายและถ่าน ไม้ขีดและไฟแช็ค กระดาษชำระ ผ้าอนามัย ยากันยุง ถุงดำ เชือก นกหวีด เทปกาว รองเท้าแตะ มีดพก ฯลฯ
  • จัดเตรียมระบบไฟส่องสว่างสำรองภายในบ้าน เช่น ไฟฉาย เทียนไข ไม้ขีดไฟ
  • ชาร์จแบตเตอรี่โทรศัพท์และพาวเวอร์แบงค์ให้เต็มไว้ตลอดเวลา
  • บันทึกหมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉิน สำหรับขอความช่วยเหลือในภาวะคับขันไว้ 

ในส่วนของตัวบ้าน เราควรป้องกันความเสียหายและสร้างความปลอดภัยไว้ในยามที่ยังต้องอยู่ในบ้านเช่นกันครับ
  • ขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้า ให้พ้นจากระดับที่คาดว่าน้ำจะท่วมถึง
  • ปิดช่องปลั๊กไฟ เพื่อป้องกันน้ำเข้าและป้องกันไฟดูด
  • ตัดกระแสไฟฟ้า ปิดสวิตซ์ไฟ สับคัตเอาท์ ป้องกันกระแสไฟฟ้ารั่ว หากบ้านออกแบบแยกระบไฟชั้นบนและชั้นล่างออกจากกันได้ก็สามารถตัดไฟเฉพาะชั้นล่างได้
  • บ้านที่มีถังน้ำใต้ดิน ต้องตรวจสอบฝาถังน้ำให้ดี ๆ ไม่ให้น้ำท่วมไหลเข้ามาปนเปื้อนน้ำในถังได้
  • บ้านที่ใช้ส้วมระบบบ่อเกรอะบ่อซึม ให้ป้องกันความเสียหายโดยปิดฝามัดให้แน่น หรืออุดด้วยกระสอบทราย
  • ป้องกันน้ำท่วมในห้องน้ำชั้นล่าง โดยต่อท่อสูงขึ้นจาก floor drain แล้วยาแนวรอยต่อให้แน่นหนา

เมื่อถึงเวลาที่น้องน้ำมาเคาะประตูบ้าน จงตัดสินใจให้รวดเร็วว่าจะอพยพหรือไม่ หากน้ำท่วมฉับพลัน หรือต้องอพยพออกจากบ้านกะทันหัน ให้หยิบสัมภาระที่เตรียมไว้ แล้วปฎิบัติดังนี้
  • ปิดระบบไฟฟ้าให้เรียบร้อย พร้อมทั้งปิดแก๊สและเครื่องใช้ไฟฟ้า ไม่เข้าใกล้สายไฟหรืออุปกรณ์ไฟฟ้า
  • สวมเสื้อผ้าที่กระฉับกระเฉงและมีโทนสีสว่าง เพื่อให้เคลื่อนไหวสะดวกและง่ายต่อการสังเกตเห็น
  • ฉีดสเปรย์หรือทายาป้องกันยุงและแมลง
  • หลีกเลี่ยงการเดินตามเส้นทางที่น้ำไหล
  • ถ้ารู้สึกไม่ปลอดภัยหรือรู้สึกถึงกระแสไฟฟ้า ไม่ควรอพยพออกจากบ้าน แล้วแจ้งขอความช่วยเหลือ

ขึ้นชื่อว่าภัยธรรมชาติ ก็ย่อมต้องมีความเสียหายตามมา แต่หากเราเตรียมตัวป้องกันไว้แต่เนิ่น ๆ ความเสียหายก็จะบรรเทาเบาบางและสามารถฟื้นฟูใหม่ได้ง่ายขึ้นมากครับ

ขอให้เจ้าของบ้านทุกคนปลอดภัยจากภัยน้ำท่วมนะครับ

จากใจ
ZmyHome
ฝากกดแชร์เป็นกำลังใจด้วยนะครับ

ผู้เขียน : จเร ZmyHome
ข้อมูล : กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
บทความอื่นๆ
  • ค้นหาบ้านคอนโด

    ต้องการซื้อ หรือเช่า บ้าน คอนโด ตรวจ สอบราคา เช็คค่าเช่า ติดต่อตรงกับเจ้า ของตัวจริง ทุกทำเล ทั่วประเทศ

    ค้นหา
  • ลงประกาศ

    ต้องการขาย หรือปล่อยเช่า บ้าน คอนโด เพียงคุณเป็นเจ้าของตัวจริง และพร้อมที่จะลงประกาศอย่างมีคุณภาพ เพื่อให้ผู้ซื้อศึกษา อย่างสะดวกที่สุด ก็ลงประกาศ ได้เลย

    ลงประกาศ