• 3 ก.ค. 2564

แนะนำโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย

เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันประสูติ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เจ้าฟ้านักวิทยาศาสตร์ ซีมายโฮมขออนุญาตแนะนำให้ผู้อ่านรู้จักกับสถาบันการศึกษาระดับมัธยมศึกษา ที่ก่อตั้งขึ้นตามพระราชปณิธาน ที่ทรงมุ่งมั่นจะส่งเสริมคุณภาพชีวิตในด้านความเป็นอยู่และการศึกษาของเยาวชน โดยเฉพาะการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ก็คือ "โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย" ครับ

โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย ได้รับประกาศจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวโรกาสที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุครบ 3 รอบ ในปี พ.ศ.2536 โดยใช้ชื่อว่า "โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี" ตามด้วยชื่อจังหวัดที่ตั้ง หลังจากนั้นได้รับพระราชทานตราสัญลักษณ์และนามโรงเรียนใหม่ คือ "โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย"

ในปีการศึกษา 2550 กลุ่มโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยทั้ง 12 แห่งทั่วประเทศ ได้ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ซึ่งเป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ต้นแบบของรัฐแห่งแรก ที่มุ่งเน้นการผลิตนักวิจัย นักประดิษฐ์และนักคิดค้นด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่มีคุณภาพเทียบเคียงกับโรงเรียนชั้นนำของนานาประเทศ เปิดห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยทั้ง 12 แห่งขึ้น ต่อมา สพฐ.พิจารณาเห็นแล้วว่า โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยสามารถจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรวิทยาศาสตร์ได้มาตรฐานเดียวกันกับโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จึงประกาศให้ทั้ง 12 โรงเรียน เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค เพื่อเพิ่มโอกาสให้กับผู้มีความสามารถพิเศษด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ซึ่งมีกระจายอยู่ในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ โดยเฉพาะผู้มีความสามารถพิเศษที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ เพื่อเป็นฐานในการผลิตและพัฒนานักวิทยาศาสตร์ที่มีคุณภาพในระดับสากล

และเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ.2561 กระทรวงศึกษาธิการได้ออกประกาศ เรื่อง การเปลี่ยนชื่อโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย เป็น "โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย" โดยมีผลตั้งแต่ 3 กรกฎาคม พ.ศ.2561 เป็นต้นมา


โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย มีทั้งหมด 12 แห่ง ตามพื้นที่บริการของโรงเรียน อ้างอิงตามเขตพื้นที่การศึกษาในช่วงที่ก่อตั้งโรงเรียน ดังนี้
  1. โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย นครศรีธรรมราช ก่อตั้ง 27 กรกฎาคม พ.ศ.2536 จังหวัดในเขตพื้นที่บริการ 5 จังหวัดได้แก่ นครศรีธรรมราช สงขลา ชุมพร พัทลุง สุราษฎร์ธานี
  2. โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เชียงราย ก่อตั้ง 27 กรกฎาคม พ.ศ.2536 จังหวัดในเขตพื้นที่บริการ 8 จังหวัดได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ น่าน พะเยา แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน
  3. โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ตรัง ก่อตั้ง 27 กรกฎาคม พ.ศ.2536 จังหวัดในเขตพื้นที่บริการ 5 จังหวัดได้แก่ ตรัง ภูเก็ต กระบี่ พังงา ระนอง
  4. โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย บุรีรัมย์ ก่อตั้ง 27 กรกฎาคม พ.ศ.2536 จังหวัดในเขตพื้นที่บริการ 6 จังหวัดได้แก่ บุรีรัมย์ นครราชสีมา ชัยภูมิ ศรีสะเกษ สุรินทร์ มหาสารคาม
  5. โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย มุกดาหาร ก่อตั้ง 4 เมษายน พ.ศ.2537 จังหวัดในเขตพื้นที่บริการ 7 จังหวัดได้แก่ มุกดาหาร อุบลราชธานี กาฬสินธุ์ นครพนม ยโสธร ร้อยเอ็ด อำนาจเจริญ
  6. โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย สตูล ก่อตั้ง 20 พฤษภาคม พ.ศ.2537 จังหวัดในเขตพื้นที่บริการ 4 จังหวัดได้แก่ สตูล ยะลา นราธิวาส ปัตตานี
  7. โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เพชรบุรี ก่อตั้ง 2 มิถุนายน พ.ศ.2537 จังหวัดในเขตพื้นที่บริการ 6 จังหวัดได้แก่ เพชรบุรี ราชบุรี กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสงคราม สุพรรณบุรี
  8. โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เลย ก่อตั้ง 2 มิถุนายน พ.ศ.2537 จังหวัดในเขตพื้นที่บริการ 7 จังหวัดได้แก่ เลย อุดรธานี ขอนแก่น สกลนคร หนองคาย หนองบัวลำภู บึงกาฬ
  9. โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย พิษณุโลก ก่อตั้ง 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2538 จังหวัดในเขตพื้นที่บริการ 8 จังหวัดได้แก่ พิษณุโลก กำแพงเพชร ตาก นครสวรรค์ พิจิตร เพชรบูรณ์ สุโขทัย อุตรดิตถ์
  10. โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ลพบุรี ก่อตั้ง 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2538 จังหวัดในเขตพื้นที่บริการ 7 จังหวัดได้แก่ ลพบุรี ชัยนาท พระนครศรีอยุธยา สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง อุทัยธานี
  11. โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี ก่อตั้ง 31 กรกฎาคม พ.ศ.2538 จังหวัดในเขตพื้นที่บริการ 6 จังหวัดได้แก่ ปทุมธานี นครปฐม นนทบุรี สมุทรสาคร สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร
  12. โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ชลบุรี ก่อตั้ง 19 มีนาคม พ.ศ.2539 จังหวัดในเขตพื้นที่บริการ 8 จังหวัดได้แก่ ชลบุรี จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ตราด นครนายก ปราจีนบุรี ระยอง สระแก้ว
ปัจจุบัน การเรียนการสอนของกลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย (รร.จภ.) ได้รับการประเมินคุณภาพการศึกษาด้วยตัวชี้วัด PISA (Program for International Student Assessment) ที่จัดขึ้นโดยกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ที่เรียกว่า OECD มีผลคะแนนเฉลี่ยอยู่ในอันดับต้น ๆ ของโลก ครูของกลุ่ม รร.จภ.ได้จัดการเรียนการสอนให้นักเรียนคุ้นเคยกับการตอบปัญหาแบบอัตนัย ด้วยการใช้ความรู้ในการให้เหตุผลของคำตอบ ทำให้นักเรียนของ กลุ่ม รร.จภ. สามารถสอบ O-Net ที่มีคำถามส่วนใหญ่เป็นแบบปรนัยได้คะแนนสูง ดังผลการสอบ O-NET ในปีการศึกษา 2561 ของมัธยมปีที่ 3 และของมัธยมปีที่ 6 ที่ผู้เข้าสอบจากกลุ่ม รร.จภ. มีผลรวมค่าเฉลี่ยคะแนนค่อนข้างสูง
 

สามารถกล่าวได้ว่า กลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ที่ส่วนใหญ่อยู่ในท้องที่ห่างไกลจากชุมชนในต่างจังหวัด และมีข้าราชกาครูสังกัด สพฐ. เหมือนโรงเรียนทั่วไป สามารถพัฒนาคุณภาพการศึกษาจนอยู่ในระดับต้น ๆ ของประเทศ และได้มีส่วนในการกระจายการศึกษาที่มีคุณภาพไปสู่พื้นที่ห่างไกล เป็นการนำร่องลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของประเทศอย่างเป็นรูปธรรม

ที่มา : wikipedia, หนังสือพิมพ์แนวหน้า, สถาบันทดสอบการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
ภาพประกอบ : เว็บไซต์ โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี
  • ค้นหาบ้านคอนโด

    ต้องการซื้อ หรือเช่า บ้าน คอนโด ตรวจ สอบราคา เช็คค่าเช่า ติดต่อตรงกับเจ้า ของตัวจริง ทุกทำเล ทั่วประเทศ

    ค้นหา
  • ลงประกาศ

    ต้องการขาย หรือปล่อยเช่า บ้าน คอนโด เพียงคุณเป็นเจ้าของตัวจริง และพร้อมที่จะลงประกาศอย่างมีคุณภาพ เพื่อให้ผู้ซื้อศึกษา อย่างสะดวกที่สุด ก็ลงประกาศ ได้เลย

    ลงประกาศ