• 21 ม.ค. 2559

EIA คืออะไร ทำไมช่างสุ่มเสี่ยงและยากเย็น

โดย นิธิพันธ์ ZmyHome

สำหรับผู้ที่คุ้นเคยกับการเลือกซื้อคอนโด คงไม่มีใครไม่คุ้นเคยกับคำว่า EIA ซึ่งย่อมาจาก Environmental Impact Assessment ซึ่งก็คือ

“การวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม” EIA สำหรับวงการซื้อขายคอนโดศักดิ์สิทธิ์ถึงขนาดเอามาโฆษณากันยกใหญ่ ว่าโครงการนี้ “EIA Approved!” คือได้รับการอนุมัติ EIA แล้วเว้ยเฮ้ยยยย เพราะสำหรับโครงการคอนโดตั้งแต่ 80 ห้องเป็นต้นไป หรือมีพื้นที่ใช้สอยตั้งแต่ 4,000 ตารางเมตรขึ้นไป จะเข้าข่ายต้องได้รับการอนุมัติ EIAจากคณะกรรมการสำนักวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (ซึ่งเป็นคนละหน่วยงานกับส่วนที่อนุมัติการก่อสร้างอาคาร) ได้รับการอนุมัติ EIA แล้วจึงไปขอใบอนุญาตก่อสร้างอาคารได้ ไม่ได้ใบอนุมัติ EIA ก็สร้างไม่ได้

โดยทั่วไปเจ้าของโครงการมักขอ EIA ก่อนที่จะทำแบบขออนุญาตก่อสร้างเสร็จ เมื่อโครงการออกแบบได้ประมาณหนึ่ง ก็เข้าสู่ขั้นตอนขอ EIA ได้เลย เพราะการขอ EIA ส่วนใหญ่ต้องการข้อมูลด้านแบบคร่าวๆ แต่เน้นข้อมูลด้านผลกระทบสภาพแวดล้อมมากกว่า เช่น สร้างแล้วรถติดจากการเข้าออกของอาคารหรือไม่ สร้างแล้วพื้นที่รับน้ำมีมากพอหรือไม่ ขวางทางน้ำหรือไม่ หรือแม้แต่สร้างแล้วบังวิว ทำให้ทิวทัศน์ของสถานที่สำคัญของเมืองเสียหายหรือเปล่า ทำให้ชุมชนเดือดร้อนหรือไม่ อย่างไร หรือโครงการมีส่วนในการสร้างงานสร้างอาชีพหรือทำลายงานทำลายอาชีพของชุมชน บางปัจจัยบอกได้ยากครับ แต่ละพื้นที่อาจมีหัวข้อที่ต้องให้น้ำหนักแตกต่างกัน ต้องทำวิจัยกันอย่างดี หรือถ้าพบปัญหาแล้วทางโครงการมีมาตรการแก้ไข ก็ยื่นให้พิจารณาเพื่ออนุมัติได้ ขณะที่กฎหมายอาคารทั่วไปจะมีความชัดเจนว่า อะไรห้ามอะไรไม่ห้าม

แต่การทำวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมนั้น ไม่ได้ตายตัว ขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น ความจริงจังและใส่ใจของผู้จัดทำEIA ความเปราะบางเฉพาะด้านของพื้นที่ที่ก่อสร้าง แนวคิดของคณะกรรมการพิจารณา ความเข้มแข็งของชุมชนโดยรอบ ซึ่งหลายครั้งบอกไม่ได้ว่าจะออกมาแนวไหน แม้จะมีความพยายามผลักดันให้มีกฎเกณฑ์ชัดเจน แต่ก็ได้เพียงบางหัวข้อเท่านั้น หลายหัวข้อในการพิจารณาก็ยังเป็นกรณีใครกรณีมัน


ซึ่งจะว่าไปมันก็คือวัตถุประสงค์ที่ดีของกฎหมายฉบับนี้ (เพราะไม่ตายตัว จึงให้เสนอทางออกได้หลากหลาย) และเพราะทั้งหมดที่ว่ามา EIA จึงเป็นกระบวนการที่ใช้ระยะเวลาค่อนข้างนาน วิจัยนาน ถกเถียงกันระหว่างชุมชน คณะกรรมการ และผู้ประกอบการก็นาน แถมบางที่ตั้งก็ไม่รู้จะมีประเด็นล่อแหลมโผล่มาเมื่อไหร่ ระยะเวลาการพิจารณาเรื่อง EIA จึงอาจลากยาวไปโดยไม่รู้กำหนดแน่นอน

ผู้ประกอบการซึ่งต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างจึงมักเริ่มขายโครงการก่อนตั้งแต่ EIA ยังไม่อนุมัติ ความเสี่ยงจึงตกอยู่กับผู้เข้าซื้อโครงการที่ยังไม่ได้อนุมัติ EIA โชคไม่ดีนักกลไกในการรองรับหรือชดเชยความเสียหายแก่ผู้จองหรือซื้อโครงการที่อยู่ดีๆล่มหรือยืดเยื้อเพราะ EIA ไม่ผ่านของบ้านเรา ยังไม่เป็นรูปเป็นร่างเท่าที่ควร ล่มไปเลยยังพอไหว(คืนเงินพร้อมดอกเบี้ย) แต่ยืดเยื้อนี่แหละที่เป็นปัญหา(ต้องจ่ายเงินงวดไปเรื่อยๆโดยไม่รู้ว่าโครงการจะเสร็จเมื่อไหร่) การซื้อโครงการที่ EIA อนุมัติแล้วจึงทำให้มีความอุ่นใจกว่าเยอะมากๆ ส่วนโครงการที่ได้รับการอนุมัติ EIA แล้ว ก็ขอให้ผู้ประกอบการทำการก่อสร้างตามแบบที่ได้ขออนุมัติไปก็น่าจะทำให้ทุกอย่างผ่านไปด้วยดีครับ

จากใจ
ZmyHome
กดแชร์เป็นกำลังใจให้ทีมงานด้วยครับ
  • ค้นหาบ้านคอนโด

    ต้องการซื้อ หรือเช่า บ้าน คอนโด ตรวจ สอบราคา เช็คค่าเช่า ติดต่อตรงกับเจ้า ของตัวจริง ทุกทำเล ทั่วประเทศ

    ค้นหา
  • ลงประกาศ

    ต้องการขาย หรือปล่อยเช่า บ้าน คอนโด เพียงคุณเป็นเจ้าของตัวจริง และพร้อมที่จะลงประกาศอย่างมีคุณภาพ เพื่อให้ผู้ซื้อศึกษา อย่างสะดวกที่สุด ก็ลงประกาศ ได้เลย

    ลงประกาศ