• 21 ก.ย. 2563

ที่ป่า ที่เขา ที่เกาะ ที่ลาดชัน ออกโฉนดได้อย่างไร?

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ไม่มีคํานิยามของ “ที่ดิน” ไว้เป็นการเฉพาะ แต่ได้บัญญัติเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ไว้ในมาตรา 139 ว่า “อสังหาริมทรัพย์ หมายความว่า ที่ดิน และทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดินมีลักษณะเป็นการถาวรหรือประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดินนั้น และหมายความรวมถึงทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับที่ดิน หรือทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดินหรือประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดินนั้นด้วย”

ที่ดินในขอบเขตราชอาณาจักรไทย ถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ที่ดินของรัฐ และที่ดินของเอกชน ที่ดินของรัฐก็จะมีทั้งที่เป็นทรัพย์สินของรัฐและเป็นสาธารณสมบัติ ส่วน ที่ดินเอกชน หมายถึง ที่ดินที่เอกชนสามารถมีกรรมสิทธิ์ หรือสิทธิครอบครองได้ตามประมวลกฎหมายที่ดิน และกฎหมายอื่น แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ที่ดินกรรมสิทธิ์ กับที่ดินที่มีสิทธิครอบครอง

ที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์ ได้แก่ ที่ดินที่มีหนังสือสําคัญสําหรับที่ดินประเภท โฉนดที่ดิน โฉนดแผนที่ โฉนดตราจอง และตราจองที่ตราว่าได้ทําประโยชน์แล้ว

ที่ดินที่บุคคลมีสิทธิครอบครอง ได้แก่ ที่ดินที่ยังไม่มีกรรมสิทธิ์ ซึ่งได้แก่ ที่ดินมือเปล่าทั้งหลายที่มีหนังสือรับรองการทําประโยชน์ (น.ส.3, น.ส. 3 ก., น.ส. 3 ข.), แบบหมายเลข 3 ใบเหยียบยํ่า ตราจอง รวมถึงที่ดินที่มีหลักฐานการแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เป็นต้น

หลักเกณฑ์การออกโฉนดที่ดิน หรือหนังสือรับรองการทําประโยชน์

ที่ดินที่จะออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน คือ โฉนดที่ดิน หรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3, น.ส. 3 ก., น.ส. 3 ข.)ได้ จะต้องเป็นที่ดินที่มีลักษณะตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ฉบับที่ 43 (พ.ศ. 2537) ข้อ 14 กล่าวคือ
  1. จะต้องเป็นที่ดินที่ผู้มีสิทธิในที่ดินได้ครอบครองและทำประโยชน์แล้ว
  2. ไม่เป็นที่ดินที่ราษฎรใช้ประโยชน์ร่วมกัน เช่น ทางน้ำ ทางหลวง ทะเลสาบที่ชายตลิ่ง ที่เลี้ยงสัตว์สาธารณประโยชน์
  3. ไม่เป็นที่ดินซึ่งได้หวงห้ามไว้เพื่อประโยชน์ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการหวงห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่า อันเป็นสาธารณสมบัติ ของแผ่นดินพุทธศักราช 2478
  4. ไม่เป็นที่ดินที่คณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติสงวนและพัฒนาที่ดินเพื่อจัดให้แก่ประชาชน
  5. ไม่เป็นที่ดินของรัฐที่คณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติสงวนหรือหวงห้ามเพื่อให้ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน
  6. ไม่เป็นที่ดินที่คณะรัฐมนตรีสงวนไว้เพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติหรือเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างอื่น
ที่ดินที่จะออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินได้โดยมีในเงื่อนไขหรือลักษณะเฉพาะ ได้แก่
  1. ที่เขา ที่ภูเขา และพื้นที่ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยประกาศหวงห้ามตาม มาตรา 9 (2) แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ผู้ครอบครองที่ดินจะต้องมีสิทธิครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายที่ดิน
  2. ที่เกาะ จะต้องมีหลักฐานการแจ้งการครอบครอง (ส.ค. 1) ใบจอง, ใบเหยียบย่ำ, น.ค. 3, ก.ส.น. 5 หรือเป็นที่ดินที่คณะกรรมการจัดที่ดิน แห่งชาติได้อนุมัติให้จัดแก่ประชาชน หรือเป็นที่ดินซึ่งได้มีการจัดหาผลประโยชน์ตามมาตรา 10 และ 11 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินโดย คณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติได้อนุมัติแล้ว
  3. เขตป่าสงวนแห่งชาติ เขตอุทยานแห่งชาติ พื้นที่รักษาพันธุ์สัตว์ป่า พื้นที่ห้ามล่าสัตว์ป่า หรือพื้นที่ที่ได้จำแนกให้เป็นเขตป่าไม้ถาวร จะต้องมีหลักฐานการแจ้งการครอบครอง (ส.ค. 1) หรือได้ออกใบจอง, ใบเหยียบย่ำ, ตราจอง ไว้ก่อนการสงวนหรือหวงห้ามที่ดิน
  4. ที่ดินที่อยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน ผู้ครอบครองที่ดินจะต้องมีหลักฐานการแจ้งการครอบครอง (ส.ค. 1), ใบแจ้งความประสงค์จะได้สิทธิในที่ดิน ตามมาตรา 27 ตรี แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน หรือมีใบจอง, ใบเหยียบย่ำ หรือมีหลักฐาน น.ค. 3, ก.ส.น. 5 ก่อนประกาศเป็นเขตปฏิรูปที่ดิน
  5. พื้นที่ที่มีความลาดชันโดยเฉลี่ยร้อยละ 35 ขึ้นไป ตามที่กำหนดไว้ในนโยบายป่าไม้แห่งชาติ ผู้ครอบครองที่ดินจะต้องมีสิทธิครอบครองมาก่อน การบังคับใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน (ก่อน 1 ธันวาคม 2497) หรือมีหลักฐานแสดงว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินโดยชอบด้วยกฎหมาย เช่น มีหลักฐานการแจ้งการครอบครอง (ส.ค. 1) เป็นต้น

ที่มา : เกร็ดกฎหมายน่ารู้ "สิทธิในที่ดิน", นางสาวสิริโฉม พรหมโฉม ผู้เขียน เว็บไซต์วุฒิสภา
บทความอื่นๆ
  • ค้นหาบ้านคอนโด

    ต้องการซื้อ หรือเช่า บ้าน คอนโด ตรวจ สอบราคา เช็คค่าเช่า ติดต่อตรงกับเจ้า ของตัวจริง ทุกทำเล ทั่วประเทศ

    ค้นหา
  • ลงประกาศ

    ต้องการขาย หรือปล่อยเช่า บ้าน คอนโด เพียงคุณเป็นเจ้าของตัวจริง และพร้อมที่จะลงประกาศอย่างมีคุณภาพ เพื่อให้ผู้ซื้อศึกษา อย่างสะดวกที่สุด ก็ลงประกาศ ได้เลย

    ลงประกาศ